สิงหาคม 17, 2019 | 7,619 views

ฤาษีนิล ฅนตามรอยพ่อ

ตามรอยพ่อ อย่างพอเพียง

มื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 สิงหาคม 2562) เปิดเฟซบุ๊คไปเจอเพจของรายการ “คนค้นฅน” ซึ่งได้นำเสนอคลิปสั้น 5 นาที เป็นเรื่องราวของชายผู้พลิกผืนนาดินลูกรังแห้งแล้งให้กลายเป็นป่าสมบูรณ์ ดำเนินชีวิตด้วยความสมถะพอเพียง อยู่คนเดียวเดี่ยวโดดจนหลายคนเรียกเขาว่าเป็น “ฤษี” และด้วยชื่อของเขาคือ นิลพัท วิชัยยา ใครๆ จึงตั้งสมญาให้เขาว่า “ฤษีนิล” นักปลูกต้นไม้แห่งสกลนคร

คำว่า “ฤษี” ในดินแดนอีสานแถบนี้ ไม่ได้มีความหมายเชิงศาสนธรรมอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงคนที่ปลีกตนเองออกจากชุมชนด้วย มีชีวิตที่โดดเดี่ยว ยิ่งพี่นิลไม่มีครอบครัวอยู่ด้วยแล้ว ภาพของชายใส่เสื้อช็อปทำงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ก็ยิ่งตอกย้ำสมญานามที่ว่านี้

คำว่า “ฤษีนิล” ทีเเรกไม่มีใครพูดถึง เเต่ชาวบ้านที่ผ่านไปมาเห็นว่าอยู่ท่ามกลางป่าอยู่คนเดียว ก็เลยเรียก “ฤษี” แต่จริงๆ เเล้วก็ไม่ใช่ “ฤษี” หรอก เป็นคนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ นี่แหละ ชื่อจริงคือ นิลพัท วิชัยยา เรียกสั้นๆ ว่า “นิล” ก็เลยกลายเป็น “ฤษีนิล” ไปเลย

ในวัยหนุ่มก็ไปแสวงหาโอกาสในเมืองกรุง เหมือนหนุ่มสาวอีสานทั่วๆ ไป ทำงานรับจ้างในโรงงานได้ค่าแรงวันละ 45 บาท ทำอยู่จนอายุ 42 ปี ก็ยังไม่พบโอกาสที่ว่าสักที จึงคิดหวนกลับคืนบ้านเกิดที่สกลนคร ได้รับที่ดินมรดกที่แบ่งให้กันมาในหมู่ญาติพี่น้องจำนวน 13 ไร่ เป็นที่นาซึ่งเป็นหินลูกรัง ศิลาแลงก้อนใหญ่ๆ ที่ปลูกอะไรได้ยาก แห้งแล้งมาก แต่ก็เป็นความท้าทายว่า “เราจะพลิกฟื้นผืนดินนี้ได้อย่างไร” มาอยู่ใหม่ๆ จึงเริ่มด้วยการสร้างที่พักเป็น “กระต๊อบ” เล็กๆ สำหรับอยู่คนเดียว

แล้วเริ่มต้นจากการสร้าง “แหล่งน้ำ” ด้วยการใช้แรงกายขุดสระน้ำที่เห็นนี้ ขุดด้วยจอบ หินก้อนใหญ่ๆ ก็ใช้ชะแลงงัด เอามาทุบให้ก้อนเล็กลง นำมาจัดเรียงเป็นกำแพงหิน จากนั้นก็เริ่ม “ปลูกต้นไม้” ด้วยการเลียนแบบธรรมชาติ คือให้มันเกื้อกูลกันระหว่างต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็ก แรกๆ ก็ต้องรดน้ำพรวนดินตามสมควร พอมันตั้งตัวได้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน เรื่อง “ไร่นาสวนผสม” หรือ “เกษตรพอเพียง” ก็เคยได้ยินมาบ้าง ก็พยามยามนำมาปรับใช้กับตนเอง

สมัยหนุ่มๆ พี่นิลเคยพบรักที่กรุงเทพฯ จนเมื่อภรรยาลามาคลอดที่บ้านเกิดของเขาที่จังหวัดอุดร กว่าพี่นิลจะลางานตามมาหาได้ ลูกก็โตแล้ว และเรื่องราวก็จบลงตรงนั้น เพราะสาวเจ้าพบรักอีกครั้งกับหนุ่มในหมู่บ้าน และขอลูกไว้เลี้ยงเอง พี่นิลเลยเป็นฝ่ายจากไปกลับสู่เมืองกรุงอีกครั้ง สิ่งเดียวที่พี่นิลเก็บไว้น่าจะเป็นรูปภาพของลูกชายที่ยังตั้งอยู่ให้เห็นในเรือนนอน “มนุษย์เราควรแสวงหาอิสรภาพให้มาก มีอะไรอีกหลายอย่างให้ได้เรียนรู้ ให้ได้ทำ การไปเสียเวลากับการสะสมอะไรมากเกินไป มันไร้สาระ มีนั่นก็อยากมีนี่ วุ่นวายไปไม่จบ ผมมาอยู่ที่นี่ 20 ปี สิ่งเดียวที่มีมากขึ้นน่าจะมีแต่ต้นไม้นี่แหละ”

จากการสนทนากับพี่นิลถึงเรื่องราวในอดีต เกี่ยวกับการศึกษา พี่นิลตอบว่า “ไม่เคยเรียนอะไรสูงเลย ได้เรียนจริงจังก็นักธรรมนี่แหละ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก สำหรับผมแล้วเหมือนจบปริญญาชั้นสูงสุดเลย ใช้ชีวิตในเมืองหลวงจะมีปัญหาขนาดไหน คนอื่นเงินไม่พอใช้ ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นหนี้เป็นสิน เราไม่เคยเป็น ดูมันไป ตามกิเลสที่ว่าจะโลภ จะโกรธ จะหลง จะอยาก ก็พยายามเข้าใจมัน ตอนเรากลับมาคนอื่นเขาก็คิดว่าเราคงอยู่ไม่ได้แล้ว ที่ดินมันมีแต่หินแข็งๆ จะปลูกอะไรได้”

“ยิ่งคนมาจากเมืองหลวงเจออะไรแบบนี้ ที่นาแห้งแล้ง ดินแข็งๆ เข้าไปก็คงกลับ แต่เราตัดสินใจแล้วว่าไม่กลับ ไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็เริ่มทำกระต๊อบ ทำครัว และถากดินไปเรื่อยๆ เจอก้อนหินเราก็ขนมาทำรั้ว ทำแนวกันไฟ เริ่มปลูกต้นไม้ ปลูกมันทุกอย่าง อะไรที่เขาว่าปลูกไม่ได้เราก็ลองว่ามันจริงไหม สุดท้ายมันก็ปลูกได้ทุกอย่าง แต่ว่ามันจะออกดอกออกผลไหมก็ขึ้นอยู่กับอากาศด้วย นั่นต้นแอปเปิ้ล หลานๆ เอามากิน เราขอเม็ดมาปลูก ขึ้นเป็นเถาเลย แต่ไม่ออกลูกหรอกนะ” พี่นิลหัวเราะ

พี่นิลมีความพอเพียงยึดถือเป็นพื้นฐานแห่งการเป็นมนุษย์ นิยมความมักน้อย ทุกอย่างที่พี่นิลนำมาปฏิบัติในชีวิตมาจาก การเรียนรู้สมัยเป็นเณรที่เรียกว่า “นักธรรม” เท่านั้นเอง

พี่นิลมีเสื้อที่ใช้สวมใส่อยู่ราว 9 ตัว โดย 8 ตัวอยู่บนราวแขวนที่ทำจากไม้สักในกระต๊อบ 4 ตัวนั้นเป็นเสื้อแบบที่เราเรียกกันว่า “เสื้อช็อป” เป็นเสื้อที่ช่าง นักเรียนช่าง หรือคนที่ทำงานด้านช่าง ใส่กัน (อกเสื้อมีกระเป๋า 2 ข้าง ชายเสื้อมีกระเป๋าอีก 2 เหมาะมากกับการทำงานที่ต้องพกพาเครื่องมือ หย่อนเครื่องมือไปตามกระเป๋าต่างๆ อย่างไรก็เพียงพอแน่) ส่วนอีก 4 ตัวนั้นเป็นเสื้อที่ใส่สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ทางอีสานเรียกว่า “เสื้อเอาบุญ” 3 ตัวคงใช้ใส่ไปทำจับจ่ายสิ่งของหรือทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน (ซึ่งพี่นิลออกไปน้อยเต็มที) อีกตัวนั้นเป็นเสื้อลายดอกซึ่งผมเดาว่าคงใช้ใส่ในช่วงสงกรานต์ และผมเดาถูก

“หลานสาวเขาซื้อมาให้ เขาบอกว่าให้ใส่วันรดน้ำขอพรช่วงสงกรานต์ มันจะได้เข้ากับคนอื่นหน่อย แต่เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้ไปร่วมงานกับเขาหรอกนะ เสียเวลาทำงาน เอาเวลาไปปลูกต้นไม้ดีกว่า”

ผมจับเสื้อของพี่นิลแต่ละตัวที่อยู่บนราวแขวน เว้นแต่เสื้อลายดอกตัวนั้น ทุกตัวแสดงให้เห็นถึงการใช้งานอย่างหนักหน่วง แต่กระนั้นมันก็คงความสะอาดอ้านในแบบที่เราใช้คำว่า ‘สะอาดจนคุณรู้สึกได้’ ตรงส่วนที่เคยเป็นป้ายชื่อของผู้เป็นเจ้าของเดิม พี่นิลเอาป้ายออกและเย็บด้ายสีน้ำเงินทับร่องรอยเหล่านั้น เป็นสไตล์ใหม่ที่ชวนให้แปลกตา แต่กระบวนการดูแลเสื้อทั้งหลายยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ที่ราวแขวนเราจะพบกับการบากร่องเล็กๆ บนราวเพื่อให้ขอเกี่ยวของไม้แขวนเสื้อลงร่องพอดี และไม่เลื่อนไปมา แน่นอนระยะห่างระหว่างร่องสม่ำเสมอ และทำให้เสื้อแต่ละตัวเหมือนการเข้าแถวของทหาร ที่ยื่นมือแตะบ่าคนข้างหน้าเป็นระยะที่พอดี

“คนเรานั้น ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของในชีวิตมากมายนักหรอก มีน้อยชิ้นแต่ดูแลเขาอย่างดี ใช้สอยเขาอย่างเคารพ อย่างระมัดระวัง ก็เพียงพอแล้ว”

“พี่นิลบากร่องไม้ให้เป็นระยะนี่จะได้แขวนเป็นระเบียบใช่ไหม?”

“ไม่ใช่” ครานี้คำตอบพี่นิลพลิกความคาดหมายของผม “ถ้าเราไม่บากร่องไว้ เวลาลมพัด เสื้อมันจะไปกองที่ด้านใดด้านหนึ่ง และถ้าไม่ดูแลตรงที่เสื้อกองทับกันนี่ โอกาสที่แมลงมันจะมาทำรังหรือคาบเศษไม้อะไรมาจะสูง ไม่ช้า เสื้อก็จะเสียหายหมด”

“แล้วพี่นิลกินอะไรนี่ในแต่ละวัน” ผมเหลียวมองไปรอบๆ ผักสารพัดผัก ผลไม้จำนวนมาก น่าจะประกอบอาหารได้หลากหลายแบบ เอาเฉพาะผลไม้ที่ให้ความเปรี้ยว พี่นิลมีมะนาวหลายสายพันธุ์ เสาวรส มะตูม ถ้าเราถือว่าของปรุงรสชั้นดีคือความเปรี้ยว มีกล้วย ดอกแค บวบ ผักหวานป่าที่พี่นิลปลูกไว้ ที่นี่คือครัวที่พร้อมสำหรับการทดลองด้านอาหารอย่างยิ่ง

“ปลากระป๋อง” พี่นิลบอก “กินแต่ปลากระป๋อง ไม่รู้ชอบอะไรนักหนา มาทีไรก็กินแต่ปลากระป๋อง มันง่ายนะ เรากินพอให้มีแรง ดัดแปลงทำกินไป เก็บก็ง่าย มีหลายยี่ห้อด้วย ส่วนพืชผักประกอบก็เก็บเอาตามริมรั้วนี้ได้เลย”

พี่นิลใช้ทุกอย่างในชีวิตจากหลักสูตรนักธรรมเอกจริงๆ ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า รายได้หลักมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท สำหรับบางคนอาจไม่พอเพียง แต่สำหรับฤษีนิลแล้วพอแน่นอน เพราะฉลาดในการบริหารจัดการ “อย่างคนที่ชอบกินกาแฟ ถ้าเงินน้อยก็หยุดกินกาแฟซะ ถ้าชอบดื่มเหล้า เมื่อมันแพงก็เลิกเสียสิ ชอบสูบบุหรี่ บุหรี่ก็แพงแถมยังก่อมะเร็งด้วย ก็เลิกมันเสีย”

ทุกวันนี้ไม่ได้อยากได้อะไร บางคนจะเอาไฟฟ้ามาให้เอาไหม? ก็บอกเขาไปว่า “ไม่เอา มีตะเกียงก็ดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ค่าใช้จ่ายน้ำมันก็ไม่มาก บางคนจะเอาโทรศัพท์มาให้ ก็บอกเขาไปว่า ไม่เอา ไม่รู้ว่าจะติดต่อกับใคร ใครอยากมาพบก็มาผมก็อยู่ที่นี่ตลอด

เรื่องอนาคตที่จะมาถึง ก็ไม่ต้องไปคิดถึงมันมาก เรื่องอดีตที่ผ่านมาก็ผ่านไปแล้ว อย่าไปติดใจมันให้เอาเป็นครูสอนเรา อนาคตเป็นอย่างไรไม่ต้องคิดถึง ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” ฤษีนิล ทิ้งท้ายไว้ให้เราได้คิดต่อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *