กันยายน 15, 2019 | 3,992 views

น้ำท่วมอุบลฯ 2562

บันทึกอีกหน้าประวัติศาตร์ “น้ำท่วมอุบลฯ 2562”

แค่อยากจะบันทึกไว้ให้ลูกหลานในภายภาคหน้าได้อ่าน ระลึกถึง ได้เขียนถึงสิ่งที่เห็นด้วยตา สัมผัสด้วยโสตประสาทของตัวเอง น้ำท่วมอุบลฯ ที่ว่าหนักๆ ก็ยังไม่เท่า “ลมปากนักเลงคีย์บอร์ดที่เอาแต่มโนบนฟูก” เลย นอกจากไม่สร้างสรรค์ ยังบั่นทอนกำลังใจคนทำงานในพื้นที่ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ประสบภัยเพิ่มมากขึ้นอีก จะบอกว่า “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ก็เบาไป พวกนี้แม้แต่ “นั่งขี้ในส้วม” มันยังคลั่งรัวคีย์บอร์ดด้วยตาบอดๆ ของพวกมันอีก เรียกว่า “สมองขี้เลื่อยของพวกมันล้นออกมาทำให้น้ำมูลเน่าได้อีก” จะเหมาะสมกว่าละมัง…

สมัยนี้สื่อโซเชียลมันไวกว่า “หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์” ด้วยคนสนใจจะเสพ จะอ่าน จะดูสื่อพวกนี้น้อยลง เขาหันไปจ้องหน้าจอ “สมาร์ทโฟน” เล็กๆ เห็นภาพไม่ชัดนักแต่ถูกใจ(ผสมกับความเกลียด)ที่มีในหัวใจด้วย ก็เลยกดๆ จิ้มๆ ผสมความชัง…ในจิตใจลงไปปนเป แล้วถูกแชร์สนั่นลั่นคุ้งน้ำ จากเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน ปิง วัง ยม น่าน ตาปี สะเทือนมาถึงคนลุ่มน้ำชีลุ่มน้ำมูลอีกจนได้

ทั้งข่าวพายุใหญ่จะมาถล่มซ้ำอีกแล้วโว้ย! “โพดุล” มา “เหล่งเหลง” (ไอ้นี่ไม่มา มันก็จะบังคับด้วยลมปากให้มา ชิชะ) “คาจิกิ” มาเฉียดๆ แล้วเหิรขึ้นไปจีน (นักเลงคีย์บอร์ดก็ไปเหมารถไฟความเร็วสูงจะให้วนกลับลงมาอีกให้ได้) จนกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นงง ตูออกประกาศเตือนตอนไหนว่ะ ต้องออกมาแก้ข่าวเป็นพัลวัน ที่แชร์ๆ มาในเนื้อข่าวมันก็ลอกมาจากประกาศกรมอุตุนั่นแหละ ที่บอกรายละเอียดธรรมดาๆ แต่มันมาเขียนพาดหัว “มโน” กันเองให้ตื่นเต้ลลลลล์ ให้หวาดกลัว เพื่อเรียกยอดวิว (View) ยอดแชร์ (Share) ให้มาก เพื่ออะไร?

ในวงการโฆษณานี่เขาวัดกันว่า “เพจใดมีคนดูเยอะ (ยอดวิวมากๆ) มีคนแชร์ออกไปแยะๆ จะพิจารณาซื้อโฆษณากันให้มากที่สื่อเหล่านั้น” ตอนแรกก็มีแค่คนที่อยากมีรายได้ด้วยการสร้างเพจข่าว รายงานเรื่องที่น่าสนใจออกไปได้รับค่าโฆษณากันมากขึ้น จนสื่อหลักๆ ชักจะเซไปได้เหมือนกัน เพราะโฆษณามีน้อยลง ตอนหลังเลยหันมา “พาดหัวข่าวแบบจริงครึ่งเท็จครึ่ง” บ้าง เพื่อเพิ่มยอดวิว ยอดการแชร์ แย่งโฆษณามาบ้าง ไม่เว้นแม่แต่สำนักข่าวหัวเขียว หัวสีบานเย็น ที่เป็นสื่อกระดาษขาลงก็เล่นข่าวเอากับเขา ด้วยข่าว “โรงพยาบาลประจำจังหวัดอุบลฯ จมบาดาล” จนคนที่ทำงานในสถานที่นั้นเป็นงงว่า “เมื่อไหร่ว่ะ?” มันเป็นเรื่องธรรมดาของทุกเหนื่อยงาน ที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์น้ำเช่นนี้ ขนย้ายอุปกรณ์สำคัญไว้ในที่สูงๆ เก็บ ยา/เวชภัณฑ์ย้ายขึ้นชั้นบนให้พร้อมบริการ มันผิดตรงไหน?

ตั้งแต่พายุมา การเตือนภัยจากกรมอุตินิยมวิทยา ก็ออกข่าวมาตลอดอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ฝ่ายปกครอง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็เตือนประชาชน ช่วยขนย้ายสิ่งของกันตั้งแต่น้ำยังไม่มาโน่นแหละ แต่…!!!! ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่เชื่อว่า “มันจะท่วม” ก็เพราะปีที่แล้วก็มันไม่ท่วม ห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สินเชื่อว่าจะเอาตัวรอดได้ ไม่ยอมย้ายก็มากโข คือ ทุกปีมันจะท่วมทางตอนบนเหนือลุ่มน้ำโน่น ทางขอนแก่น มหาสารคาม ก่อนไง แล้วน้ำมันถึงจะค่อยๆ ไหลรวมตัวมาที่ปลายน้ำ “อุบลราชธานี” ทีหลัง แต่…

ปีนี้พายุมาถล่มตรงๆ 2 ลูกที่อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม ก่อนจะคลื่อนไปถึง ยโสธร ร้อยเอ็ด สกลนคร ที่อยู่เหนือขึ้นไป ดินที่อุบลฯ อำนาจเจริญเลยอิ่มตัวด้วยน้ำกันเสียก่อน พอมวลน้ำจาก ร้อยเอ็ด ยโสธร ลงมาสมทบที่อุบลฯ ดินมีน้ำเต็มอยู่แล้วก็เลยไหลหลั่งท่วมท้นรวดเร็วอย่างที่เห็น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย แต่ชาวบ้านลืมคิดถึงข้อนี้…

กอร์ปกับความจำเริญที่แผ่เข้ามาอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีให้หลังนี้ ทำให้เกิดการรุกป่าแก้มลิงริมแม่น้ำ ถมที่ดินสร้างเมืองใหม่ หมู่บ้านจัดสรรกันให้พรึบ มีการตัดถนนวงแหวนรอบเมือง เพื่อช่วยการระบายรถราให้สัญจรสะดวก แต่… มันขวางทางน้ำ ที่เคยไหลนองท่วมทุ่งไม่ให้ออกไปได้โดยง่าย ผลก็คือ น้ำระบายไม่ทันเอ่อท่วมในเขตเมืองอย่างรวดเร็วนั่นเอง


เส้นหยักๆ สีน้ำเงินคือแนวเขตน้ำท่วมปีนี้ครับ

ทำถนนเลี่ยงเมืองคือการสร้างปัญหามากไหม? ก็ไม่ดอก ถ้าหากมีการคำนวณทางด้านวิศวกรรมที่ถูกต้อง มีการสำรวจตรวจสอบย้อนหลังกันหน่อยว่า ทางน้ำในอดีตมีที่ตรงไหนบ้าง มันถูกถมรุกล้ำกันมากแค่ไหน จะออกแบบให้น้ำมันระบายออกไปได้อย่างไรให้รวดเร็ว” การสร้างทางลอดให้น้ผ่านำด้วยท่อลอดกลมๆ นั้นมันไม่ช่วยอะไรเลย ต้องเป็นสะพานยาวๆ ถี่ๆ มากๆ ด้วย จึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ ไปดูเถอะมีน้ำท่วมจังหวัดไหนแบบทันท่วงที รวดเร็วในระยะ 10 ปีให้หลังมานี้ ล้วนมาจากการสร้างถนนวงแหวน และการถมพื้นที่กีดขวางทางน้ำกันทั้งนั้น


ถนนเลียงเมืองอุบลฯ ด้านตะวันตก 231 บริเวณหน้าเซนทรัล พลาซ่า

ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานทั้งภาคราชการ รัฐ ทหาร ตำรวจ เอกชน องค์กรการกุศลต่างๆ จิตอาสา ได้จับมือร่วมกันตลอดมา ในการออกช่วยเหลือประชาชน มีข่าวออกมาตลอด แต่เรื่องดีๆ ไม่ค่อยมีคนแชร์ เรื่องแย่ๆ แห่แชร์กันตรึมครับพี่น้อง ลองฟังข่าวจากสถานีวิทยุ โทรทัศน์ในส่วนท้องถิ่นกันบ้างท่านจะได้ยิน ได้เห็นความเคลื่อนไหวกันตลอดเวลา อย่าเอาแต่จ้องหน้าจอเล็กๆ ในมือที่คุณสนใจติดตามหยิบมือหนึ่ง มันไม่เห็นภาพกว้างดอก ยิ่งบางคนนะแค่เห็นชื่อ “หน่วยทหาร ตำรวจ” ไลพ์สดปฏิบัติการช่วยเหลือ ก็พาลรังเกียจ ไม่ดู ด้วยใจอคติ โธ่! ถัง… พวกเขาเหล่านั้นก็ลูกหลานบ้านเรานี่แหละ ที่ออกไปช่วยเหลือโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย บ่แม่นลูกหลาน “อีตาลุง” คนนั้นดอก

จิตอาสาก็เยอะมากครับ ทั้งนำเรืออกไปช่วยขนข้าวของ ช่วยสัตว์ติดค้างหนีน้ำ ทั้งนำรถส่วนตัวไปช่วยขนน้ำดื่มสะอาด อาหารและยาเข้าไปส่งในจุดต่างๆ ช่วยผู้คนสัญจรหนีน้ำไปรักษาในโรงพยาบาล เยอะแยะไปหมด อย่าอคติจนใจเน่าเลยครับ คนอุบลฯ ไม่ทิ้งกัน แม่นบ่… และคนไทยก็ไม่ทอดทิ้งกันยามยาก ความช่วยเหลือยังคงหลั่งไหลมามิได้ขาดเลย ขอบพระคุณแทนพี่่น้องผู้ประสบภัยทุกท่านครับ

คนไทยไม่ทอดทิ้งกันในยามภัยพิบัติครับ

ชื่่นใจทั้งผู้ให้และผู้รับครับ

ในสถานการณ์ฉุกเฉินมีภัยพิบัติ สิ่งแรกที่่ต้องตระหนักคือ “หยุดข่าวลวง ไม่แชร์ข่าวปลอม สร้างความสับสนให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น” คิดว่าทุกท่านมีเครืองมือสื่อสารใกล้ตัว “โทรศัพท์มือถือ” ก็ใช้ตรวจสอบได้จากเบอร์โทรศูนย์ชวยเหลือต่างๆ จาก Google ก็ไม่ยากเลย ขอบคุณที่ไม่สร้างปัญหาให้ยุ่งยากขึ้นครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *