สิงหาคม 20, 2021 | 2,497 views

มันลำบากกะต่าวคืนเมือบ้านเฮาเด้อ

มันลำบากกะต่าวคืนเมือบ้านเฮาเด้อ

คำสั่งของผู้เป็นแม่ทางโทรศัพท์ ที่ห่วงลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองหลวง สถานการณ์การระบาดของบักโควิด-19 (หรือ อีโควิด มันโตผู้หรือโตแม่ ไผฮู้กะบอกมาแหน่เด้อ) ตอนต้นเดือนพฤษภาคมที่แล้ว สถานการณ์ตอนนั้นยังบ่ลำบากปานนี้ พอมีเวียกงานเฮ็ดอยู่ แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาการระบาดรุนแรง จนถึงขั้นปิดแคมป์คนงานก่อสร้างทั่ว กทม. รวมทั้งปิดโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง หรือกักตัวในโรงงานจำนวนมากทั้งในสมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ทำให้บรรดาแรงงานบางส่วนต้องอพยพกลับบ้านเฮา

พอเดือนสิงหาคม สถานการณ์ของการระบาดรุนแรงถึงขนาดที่เตียงในโรงพยาบาล เพื่อการรักษาเต็มทุกแห่ง ทั้งในโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย จนถึงขั้นต้องมีการกักตัวในบ้านตัวเอง หรือกักตัวในสถานที่ที่ชุมชนกำหนดขึ้น มีการล้มตายเพราะการรักษาพยาบาลไม่ทัน โรคที่กลายพันธุ์ครั้งนี้รุนแรงรวดเร็วมากจริงๆ กว่าจะรู้ตัวว่า เจ็บป่วยติดโควิด ก็เมื่อมีอาการหนักจนกระทั่งไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ นอกจากจะตกงานแล้ว คราวนี้กลัวตาย กลัวไม่ได้รับการรักษาพยาบาล จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจังหวัดต่างๆ ได้ร่วมมือกันนำเอาคนในภูมิลำเนาของตนกลับมารักษาด้วย

กาลนานมาแล้ว วิถีชีวิตของคนอีสานบ้านเฮานั้นมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อาหาร มาตั้งแต่อดีตทั้งการทำไร่นา ปลูกข้าว ปลูกพืชอาหาร เลี้ยงสัตว์ จนล่วงเข้าสู่ยุคพัฒนาเศรษฐกิจที่มีนโยบายผลักดันให้ประเทศสู่ความศิวิไลซ์ จากปลูกให้พออยู่พอกินไปเป็นปลูกเพื่อขาย เพื่อให้มีเงินเพียงพอเปลี่ยนหลังคามุงหญ้ามามุงสังกะสี ขี่รถปิ๊กอัพแทนเกวียน วัว-ควายเป็นแรงงานเคยช่วยเหลือกันก็ไม่ทันกับการปลูกไปขาย จำใจขายเพื่อนไปแลกควายเหล็กตดเป็นควัน ป้อนด้วยน้ำมันแทนหญ้า แล้ว… หนี้ ก็มากวักมือเรียกไวไวให้จำต้องจำนองจำนำที่นาไปอีก

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ตั้งแต่ขาดความรู้ เชื่อเขาว่าจะต้องรวย รวย ถ้าเร่งรีบผลิตด้วยการใช้สารเคมี นั่นจึงเป็นเหตุทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ต้องขายข้าวเขียวเป็นหนี้นายทุน แรงงานอีสานมากกว่ากว่า 3 ล้านคน จึงต้องยอมจำนนหนีออกจากบ้านเกิด เพื่อไปหางานทำในเมืองใหญ่ โดยส่วนใหญ่ไปทำงานอยู่ในภาคกลาง ประมาณ 2.8 ล้านคน (เฉพาะในกรุงเทพฯ 1.2 ล้านคน) ขณะที่แรงงานอีสานที่อยู่ในภาคเหนือและภาคใต้มีเพียง 1.3 แสนคน และ 0.9 แสนคนตามลำดับ แม้จะมีโอกาสทางอาชีพและรายได้สูงกว่าการทำการเกษตรในบ้านเกิด แต่แรงงานเหล่านี้ยังคงมีเงินเก็บออมไม่มากนัก เพราะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มีค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง ทั้งค่าที่พักเท่ารูหนู ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และยังต้องส่งเงินอีกส่วนหนึ่งกลับบ้านเกิด เพื่อเลี้ยงดูและให้ครอบครัวเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โควิด-19 ส่งแรงงานอีสานคืนถิ่น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นวงกว้าง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงาน เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และคนส่วนใหญ่อยู่ติดบ้านมากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่บางบริษัทที่พยายามประคับประคองธุรกิจให้รอด อาจต้องลดต้นทุนด้วยการให้พนักงานพักงานอย่างไม่มีกำหนด โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว และภาคการผลิตที่มีการปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแรงงานจากภาคอีสานเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแรงงานอีสานประมาณ 8 แสนคน เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ตกงาน และตัดสินใจคืนถิ่นเพื่อไปตั้งหลักที่บ้านเกิด เมื่อกลับไปแล้วแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้ปรับตัวไปประกอบอาชีพใหม่ เพื่อหารายได้ระหว่างที่รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่แรงงานคืนถิ่นบางส่วนปรับตัวได้ยาก และกลายเป็นผู้ว่างงานไป

กษตรกรรม เป็นอาชีพที่แรงงานอีสานคืนถิ่น 2 ใน 3 เลือกที่จะทำ เนื่องจากมีที่ดินและครอบครัวเป็นเกษตรกรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สะท้อนจากหลายพื้นที่ของภาคอีสานที่มีการขุดสระเพื่อรองรับการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น และมีการสั่งซื้อวัสดุรวมถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาใช้มากขึ้น ขณะที่แรงงานที่ไม่มีที่ดินทางการเกษตรเหลืออยู่ต้องปรับตัวมากกว่า โดยพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีความพยายามในการปรับตัว 3 รูปแบบ คือ

  • นำเงินเก็บบางส่วนมาลงทุนซื้อรถกระบะหรือนำรถกระบะเก่าที่มี ไปต่อเติมเป็นรถรับขนของ แม้กระทั่งเป็นรถพุ่มพวงขายอาหารตามหมู่บ้าน
  • ไปเป็นไรเดอร์ ขับรถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารให้กับธุรกิจเดลี่ริเวอร์
  • บ้างก็ขายอาหารตามสั่ง เปิดร้านขายของขนาดเล็ก แผงลอย หรือขายของออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน ซึ่งแม้จะยังสร้างรายได้ให้ได้ไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอให้เลี้ยงชีพ และผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้บ้าง

“ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาส” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เพียงสร้างวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง โควิด-19 ก็เปิดโอกาสให้แรงงานอีสานได้กลับมาใกล้ชิดกับครอบครัวอีกครั้ง และยังช่วยลดต้นทุนในการครองชีพ แรงงานคืนถิ่นยังได้นำเอาองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความถนัดมาถ่ายทอดภายในชุมชน สะท้อนจากลูกหลานที่กลับมาต่อยอดธุรกิจของพ่อแม่ โดยยกระดับไปทำการค้าออนไลน์ หรือผันตัวจากการทำงานรับจ้างมาเป็นผู้ประกอบการเอง ซึ่งสามารถช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังทำให้แรงงานอีสานมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องจากครอบครัวไปทำงานไกลๆ เพื่อไปทำงานที่เมืองใหญ่เหมือนในอดีต

ทางอื่นเป็นอย่างไรก็ไม่รู้นะ แต่แถวบ้านผมนั้นดูคนขายจะมากกว่าคนซื้อไปแล้ว และขายเหมือนๆ กันอีกต่างหาก ยอดนิยมก็ต้องส้มตำ ไก่ย่าง ขนมจีน นี่แหละ รองลงมาก็อาหารแบบกินด่วน อย่าง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ข้าวมันไก่ ต้องบอกว่า ถ้าฝีมือไม่เด่นและจัดจ้านจริงๆ อยู่รอดยากครับ ต้องพลิกแพลงกลยุทธ์การขายให้มากขึ้นกว่าเจ้าเดิมๆ ที่เขาอร่อยและชื่อดังอยู่แล้วในพื้นที่ ที่เห็นก็ ส้มตำนมโต (อันนี้ ก็แค่เรียกลูกค้ามาแวะเวียนชิมอาหารตา ตอนแม่ค้าโยกสาก ส่วนส้มตำเป็นเรื่องรองล่ะ) ก๋วยเตี๋ยวกล้ามใหญ่ (หนุ่มโชว์มัดกล้ามลวกก๋วยเตี๋ยว ไม่น่าจะเรียกสาวแท้ๆ ได้นอกจากสายเปย์สาวสอง) แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็เลิกฮิตกันครับ ในภาวะการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ ธุรกิจ Mobile market (รถพุ่มพวง) ดูจะมีภาษีกว่าเพื่อน เพราะคนกลัวไม่ออกจากบ้านไปตลาดที่มีคนพลุกพล่าน การนำเอาตลาดเคลื่อนที่ไปบริการถึงบ้านจึงได้รับความนิยม และมีความหลากหลายซื้อง่ายขายคล่องด้วยการชุดเล็กๆ ที่เหมาะสม

ส่วนตลาดแรงงานด้านอื่นๆ ในพื้นที่ก็มีไม่มาก ไม่สามารถรองรับแรงงานที่หลั่งไหลกลับบ้านได้ เว้นแต่ แรงงานที่มีฝีมือเชี่ยวชาญระดับช่าง ที่พอจะมีที่รับเข้าทำงาน มีบางส่วนที่กลับมาต่อยอดรวมเพื่อนคนงานมาเป็นกลุ่มรับงานซ่อมแซม ต่อเติมที่อยู่อาศัย ซึ่งบางทีมมีฝีมือดีกว่าช่างในท้องถิ่นก็รับงานได้พอเลี้ยงครอบครัวได้ ชีวิตต้องสู้สำหรับทุกๆ คนเป็นกำลังใจให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้นะครับ

ลองดูภาพข้างบนนี้ แล้วมาพิจารณาตนเองว่า เราจะกลับมาสู้ต่อที่บ้านเกิดเราได้อย่างไรบ้าง เอาประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการทำงานในเมืองใหญ่ มาพลิกฟื้นบ้านเกิดกันเถอะครับ เอาความรู้เดิมจากรุ่นพ่อ-แม่มาปรับให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเสริมให้ประสบผลสำเร็จต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *