สิงหาคม 11, 2019 | 6,666 views

ปลูก 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง

ปลูก ไม้ 3 อย่าง ให้ประโยขน์ 4 ประการ

ทุกวันนี้ พวกเฮาต่างรู้กันแล้วว่า ฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนและภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นทุกปีนั้น มีสาเหตุหลักๆ มาจากการทำลายและทำร้ายธรรมชาติที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องของป่าไม้ ไม่เว้นแม่แต่ “ดอนปู่ตา” ที่เคยเป็นแหล่งอาหารสำคัญของหมู่บ้าน หน่อไม้ ดอกกระเจียว เห็ดนานาชนิด ใบ/ดอกของพืชที่เป็นอาหาร ป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้ร่มเงาต่อสรรพสัตว์ นก หนู กะปอม ผึ้ง ฯลฯ ความชุ่มชื้นที่มีทำให้หนองบึงใกล้เคียงมีน้ำ มีปลา หอย ให้ได้เป็นอาหารเลี้ยงดูผู้คนทั้งหมู่บ้านได้ตลอดปี

แต่… ด้วยเพียงเพราะความต้องการนำไม้มาใช้ประโยชน์กันแค่เฉพาะตัว แอบลักลอบตัดมาใช้ มีใครห้ามก็ไม่ฟัง ดอนปู่ตา จึงเหลือเพียงความทรงจำแค่ เนินจอมปลวก ที่ไร้ป่า ไร้แหล่งอาหาร และผลที่ตามมาตอนนี้คือ ภาวะแห้งแล้ง การเสื่อมโทรมของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และดินที่ไม่สามารถอุ้มน้ำป่าไว้ได้อีกต่อไป สร้างผลกระทบต่ออาชีพทางการเกษตร ต่อเนื่องไปถึงอุทกภัยสู่คนเมืองอย่างที่เราได้เจอกันมาแล้ว

ต่ความเดือนร้อนเหล่านี้ก็พบทางออก เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (พ่อหลวงรัชกาลที่ 9) มีพระราชดำริในการพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนสู่สภาพความเป็นธรรมชาติ และมีความสมดุลอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางผสมผสาน โดยใช้วิธี ‘ปลูก ไม้ 3 อย่าง ให้ประโยขน์ 4 ประการ’ ขึ้นมา คือ ไม้ผลหรือไม้กินได้ ไม้โตเร็ว และไม้เศรษฐกิจ ให้กับหน่วยพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2519 ตามมาด้วยแนวทางการปลูกไม้ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำของ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในปีพ.ศ. 2525 ด้วยไม้ 3 อย่างคือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ

ต้นขี้เหล็ก

ต้นขี้เหล็ก เป็นทั้งยาและอาหาร

โดยประเภทของไม้ 3 อย่างนี้ก็คือ

1. ไม้ผลหรือไม้กินได้ เป็นไม้ที่ให้หน่อ ใบ ดอก ผล ซึ่งสามารถใช้เป็นทั้งอาหาร และยาสมุนไพรรักษาโรคได้ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งอาหารจากธรรมชาติไว้กิน ไว้ใช้ อย่างไม่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ลำไย เพกา แค สะเดา กระถิน กระท้อน ขี้เหล็ก ผักหวานป่า มะระขี้นก ประคำดีควาย ตะคร้อ กระบก ผักปู่ย่า มะเฟือง แคหางด่าง ขนุน มะปราง มะหาด ฮ้อสะพานควาย เป้าเลือด บุก กลอย งิ้ว มะขม มะแข่น สมอไทย ตะคร้อ เสี้ยว คอแลน มะไฟ มะขามป้อม มะเดื่อ มะปืนดง เมี่ยง มะม่วงป่า มะแฟน มะเม่า หวาย ดอกต้าง ก่อเดือย หว้า  มะกอกเกลื้อน มะหลอด คอแลน มะเม่า ส้มป่อย

กล้วย

กล้วย ปลูกง่ายได้ประโยชน์ทั้งใบและผล

2. ไม้โตเร็ว เป็นไม้ฟืนหรือเชื้อเพลิง สำหรับชุมชนไว้ใช้ในการหุงต้มปรุงอาหาร สร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว ไล่ยุง เหลือบ ริ้น ไร หากไม่มีการจัดการที่ดี ป่าก็จะขาดไม้ฟืนที่มีความจำเป็นไปได้ แต่ไม้ฟืนเป็นไม้ปลูกโตเร็ว จึงสามารถปลูกทดแทนได้ง่าย เช่น ไม้หาด สะเดา เป้าเลือด มะกอกเกลื้อน ไม้เต้าหลวง กระท้อน ขี้เหล็ก ตีนเป็ด ยมหอม ลำไยป่า มะขม ดงดำ มะแขว่น สมอไทย ตะคร้อ ต้นเสี้ยว บุนนาค ตะแบก คอแลน แดง เต็ง รัง พลวง ติ้ว หว้า มะขามป้อม แค ผักเฮือด เมี่ยง มะม่วงป่า มะแฟน กาสามปีก มันปลา นางพญาเสือโคร่ง มะมือ ลำไย รกฟ้า ลิ้นจี่

สะเดา

ปลูกสะเดา สมุนไพรใกล้ตัว อาหารที่ผู้คนนิยมถามหา

พะยูง ไม้สัก ยางนา

พะยูง ไม้สัก ยางนา ไม้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ในอนาคต

3. ไม้เศรษฐกิจหรือไม้ใช้สอย เป็นไม้สำหรับการปลูกสร้างบ้านเรือน เครื่องเรือน คอกสัตว์ เครื่องมือการเกษตร เช่น เกวียน คันไถ ด้ามจอบ เสียม และมีด รวมถึงไม้ที่นำมาทำเป็นเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า สำหรับใช้ในครัวเรือน ต่อยอดไปถึงการพัฒนาฝีมือสู่งานอุตสาหกรรมครัวเรือน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนได้อีก ไม้เหล่านี้ก็มี มะขามป่า สารถี ซ้อ ไผ่หก ไผ่บง ไผ่ซาง มะแฟน สัก ประดู่ กาสามปีก จำปี จำปา ตุ้ม ทะโล้ หมี่ ยมหอม กฤษณา นางพญาเสือโคร่ง ไก๋ คูณ ยางกราด กระถิน เก็ดดำ มะหาด ไม้เติม มะห้า มะกอกเกลื้อน งิ้ว ตีนเป็ด ยมหอม มะขม ขะแข่น สมอไทย ตะค้อ เสี้ยว บุนนาค ปีบ ตะแบก ตอง คอแลน รัง เต็ง แดง พลวง พะยอม ตะเคียน ฮักหลวง

ไผ่ตง

ต้นไผ่ตง ลำต้นใช้ประโยชน์ หน่อเป็นอาหาร

ส่วนประโยชน์ 4 ประการที่จะได้จากไม้ 3 อย่างก็คือ

  1. การปลูกไม้ที่เหมาะสมและมีคุณสมบัติที่ดี ทำให้ชุมชนสามารถนำไปใช้สอยและเสริมสร้างอาชีพเพิ่มเติมรายได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อจัดการวางแผนดูแลรักษาร่วมกันในชุมชน เพื่อให้มีไม้ไว้ใช้สอยอย่างไม่ขาดแคลน และไม่สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
  2. ไม้ฟืน ช่วยให้ชุมชนมีวัสดุเชื้อเพลิงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมหุงต้มในครัวเรือน ไม่ต้องใช้เงินซื้อให้สิ้นเปลือง ไม่พึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงทางการค้า เน้นผลิตไว้ใช้เอง
  3. ไม้กินได้ ทั้งพืชและสมุนไพร รวมถึงสัตว์แมลงที่มาพร้อมป่า เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่า ปลอดสารพิษ ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยให้กับชุมชน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อหา และถ้ามีปริมาณมากเกินต้องการ ก็ยังใช้เป็นสินค้าเสริมรายได้เพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันคนทั่วไปหันมานิยมบริโภคอาหารอินทรีย์ ที่ผลิตจากท้องถิ่นที่มีความปลอดภัยในการบริโภคมากยิ่งขึ้น
  4. ป่าไม้พันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกให้เติบโตและขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธรรมชาติเกิดความหลากหลาย และเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมถึงพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กับธรรมชาติและชุมชนไปด้วย เมื่อมีป่า มีความชุ่มชื้นมากเพียงพอ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำไว้ใช้ในการบริโภคอุปโภค และเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

การปลูกพืชแบบแบ่งชั้นเรือนยอด

การแบ่งชั้นเรือนยอด เป็นการจัดลำดับชั้นการปลูกพืชที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยของแสง ที่มีผลทำให้เกิดความเหมาะสมต่อรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด วิธีการแบ่งชั้นเรือนยอดใช้หลักเกณฑ์เกือบจะเหมือนกันแทบทุกประเทศ ภาพนี้มาจากผังการปลูกของอเมริกา ดังนี้

  1. เรือนยอดชั้นบน หรือชั้นไม้เด่น (Dominant) ไม้จำพวกนี้จะมีเรือนยอดสูงกว่าระดับของพุ่มเรือนยอดของพืชอื่นทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรือนยอดของพืชจะได้รับแสงเต็มที่ทั้งด้านบนและด้านข้าง ไม้พวกนี้จะโตกว่าไม้ในบริเวณเดียวกัน และมีเรือนยอดเจริญดี
  2. เรือนยอดชั้นรอง หรือชั้นไม้รอง (Co-diminant) ไม้จำพวกนี้จะเป็นไม้ที่มีเรือนยอดอยู่ในระดับเดียวกับระดับของยอดไม้ทั้ง ป่า เพราะฉะนั้นแสงจะได้รับมากทางด้านบนของเรือนยอด ส่วนด้านข้างของเรือนยอดจะไม่ได้รับแสงหรือรับได้น้อยมาก ตัวเรือนยอดเองก็มักจะมีขนาดปานกลาง และมีเรือนยอดไม้ต้นอื่นเบียดเสียดอยู่ข้างๆ
  3. เรือนยอดชั้นกลาง หรือชั้นไม้กลาง (Intermediate) ไม้กลางนั้นจะมีเรือนยอดอยู่ต่ำกว่าระดับเรือนยอดของไม้ทั้งบริเวณ แต่อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งของเรือนยอดได้รับ แสงโดยตรงจากข้างบนบ้างเล็กน้อย แต่ข้างๆ เรือนยอดนั้นไม่ได้รับแสงเลย โดยปกติแล้ว “ไม้กลาง” จะมีเรือนยอดเล็กและถูกเบียดจากข้างๆ หรือรอบๆ มาก
  4. เรือนยอดชั้นล่างหรือไม้ล่าง (Over-topped) ไม้ล่างเป็นไม้ที่มีเรือนยอดต่ำกว่า ระดับเรือนยอดของไม้ ทั้งบริเวณ เรือนยอดจะไม่ได้รับแสงโดยตรงเลย ไม่ว่าจะทางบนหรือรอบๆ เรือนยอด

เมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชั้นเรือนยอดจากการสังเกตธรรมชาติของป่าแล้ว ประสบการณ์การปลูกพืชของเกษตรกร และความรู้เกี่ยวกับลักษณะและธรรมชาติของพืช เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืช เป็นลำดับชั้น ตัวอย่างความรู้เรื่องการจำแนกทางพืชสวน สามารถจำแนกได้หลายวิธี เช่น

  • การจำแนกทางสวนพืชโดยลักษณะลำต้น ได้แก่ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย
  • การจำแนกโดยอาศัยลักษณะเฉพาะของพืชสวน ได้แก่ ไม้ผล ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ
  • การจำแนกพืชโดยอาศัยการเจริญเติบโต พืชล้มลุก พืชสองฤดู พืชยืนต้น

การปลูกป่า 5 ระดับ คืออะไร

การปลูกป่าแบ่งชั้นเรือนยอด นำมาพัฒนาเป็นแบบไทยๆ คือ ปลูกป่า 5 ระดับ เป็นการปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ในแปลงเดียวกัน แต่มีความสูงต่างระดับกัน โดยอาศัยลักษณะความแตกต่างของพืชที่มีความสูงต่ำมาอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่าธรรมชาติ สร้างประโยชน์มากมายหลายอย่างและสามารถใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรได้อย่างคุ้มค่า เรียกว่า “เบญจเกษตร” มาจากคำว่า เบญจะ ในภาษาบาลี หมายถึง ห้า หรือลําดับที่ 5 ส่วนคำว่า เกษตร ย่อมาจากเกษตรกร คือ เกษตร แปลว่า ที่ดิน ที่นา กับ กร แปลว่า ผู้กระทำ ผู้สร้าง เกษตรกร จึงมีความหมายว่า ผู้ทำงานหรืออาศัยที่ดินที่นาเพื่อเพาะปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์ และยังเป็นคำที่ใช้เรียก ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง และผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าอีกด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้

การปลูกพืชแบบพึ่งพา

การปลูกพืชแบบพึ่งพา คือการปลูกพืชเป็นลำดับชั้นในพื้นที่เดียวกัน ให้เกื้อกูลกันได้ประโยชน์ร่วมัน

ระดับที่ 1 ปลูกพืชประเภทไม้หัว เพื่อเป็นอาหาร เช่น ขิง ข่า หัวหอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม เผือก กระชาย มันสำประหลัง มันเทศ

ระดับที่ 2 ปลูกไม้เลื้อย เช่น บวบ น้ำเต้า ถั่วฝักยาว แตงกวา มะระขี้นก ถั่วพู ตำลึง

ระดับที่ 3 ปลูกไม้พุ่มเตี้ย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยารักษาโรค เช่น พริก กะเพรา มะเขือ ตะไคร้ ข้าว พืชสมุนไพรต่างๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ช้าพลู กระเจี๊ยบ ดีปลี

ระดับที่ 4 ปลูกไม้ระดับกลาง ซึ่งเป็นชั้นที่มีความสูงเป็นรองกลุ่มไม้ยืนต้น เช่น มะกรูด มะนาว ขี้เหล็ก ส้มโอ ขนุน ทุเรียน มะม่วง ดอกแค กล้วย ชะอม

ระดับที่ 5 ประเภทต้นไม้ใหญ่ทรงสูงให้ร่มเงา และช่วยรักษาระบบนิเวศ เช่น ตะเคียน ยางนา มะค่า ประดู่ สัก พะยูง มะฮอกกานี จำปาทอง

การจัดกลุ่มพืชในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้เกิดระบบนิเวศซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับป่าในธรรมชาติ ที่พืชสามารถพึ่งพาอาศัยกันเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ และยังเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า แม้ในพื้นที่จำกัดก็สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด ส่วนผลผลิตที่เหลือจากการใช้หรือบริโภคภายในบ้าน ก็ยังสามารถนำไปแปรรูปจำหน่ายช่วยสร้างรายเพิ่มอีกทาง โดยทั้งหมดนี้ควรยึดหลักการใช้ประโยชน์ และความต้องการของตนเอง และสมาชิกในบ้านเป็นสำคัญ

ความสุขที่ได้จากการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ที่สำคัญคือ “ไม้ 3 อย่าง” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรามหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเน้นให้ใช้นั้น เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เพราะเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดี เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเป็นที่รู้จักของชุมชน โดยเลือกใช้พื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม หรือป่าใกล้หมู่บ้านสำหรับปลูก และควรปลูกเสริมแบบธรรมชาติ คือ ไม่จับต้นไม้เข้าแถว แต่ให้โตผสมผสานกันเพื่อสร้างสภาพป่าแบบธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืน

ทิดหมู มักหม่วน เก็บเอามาเล่าสู่กันฟัง
11 สิงหาคม 2562

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *